---

วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

แซนวิช จานด่วนที่อาจไม่ปลอดภัย



แซนวิช

 
แซนวิช จานด่วนที่อาจไม่ปลอดภัย (Modernmom)
โดย: ผศ.นสพ.ดร.ศุภชัย เนื้อนวลสุวรรณ
ภาควิชาสัตว์แพทยสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          ไม่ว่าจะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ กระทั่งวันหยุดยาว บางครอบครัวที่พอจะมีเวลาว่างสักเล็กน้อย ก็อาจจะมีการตระเตรียมอาหารหรือของว่างเองไปกินระหว่างเดินทาง เพื่อจะได้ไม่ต้องลุ้นว่าจะต้องผจญหรือสุ่มเสี่ยงกับอาหารนอกบ้านมากเกินไป ทั้งเรื่องสุขอนามัยหรือความสะอาดของร้านอาหาร แต่ใช่ว่าการเตรียมอาหาร เช่น อาหารจานด่วนทำเสร็จรวดเร็วนั้นก็อันตรายได้เช่นกัน

 จานด่วนเชื้อโรคมาด่วน

          อาหารจานด่วนหรือฟาสฟู้ดที่ได้รับความนิยมกันมาก รวมถึงการตระเตรียมก็ไม่ยุ่งยากมากนัก ก็เพียงแค่จัดหาส่วนประกอบอาหารที่พร้อมบริโภคอยู่แล้วนำมารวมกัน เช่น แซนวิชหรือแฮมเบอร์เกอร์

          หลายท่านก็คงจะเริ่มเห็นภาพนะครับแล้วว่า แซนวิชนั้นทำง่ายมาก เพียงแต่ซื้อวัตถุดิบอาหารสำเร็จรูปนำมารวมกัน เช่น ขนมปัง ประกบรวมกับ ไส้แซนวิช ซึ่งอาจจะเป็น แฮม ปูอัด หมูหยอง เบคอน ทูน่า หรือไส้อื่นใดเท่าที่จะจัดหาได้ และเพิ่มคุณค่าทางอาหารให้ครบด้วยการเพิ่มผักสลัดเข้าไป จากนั้นก็เชื่อมขนมปังกับไส้ ด้วยกาวที่ทานได้และมีรสชาติอร่อย เช่น Salad Cream Sandwich Spread หรือ มายองเนส เป็นต้น ทั้งหมดนี้ก็คงใช้เวลาไม่นานมากนัก

          แม้ว่าวัตถุดิบอาหารทุกชนิดที่ประกอบเป็นแซนวิชจะมีความสะอาดและปลอดภัยต่อการบริโภคเพียงใดก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นประเด็นที่หมอซุปต้องเน้นย้ำ คือ ความสะอาดของสองมือที่พ่อบ้านหรือแม่บ้านใช้ในการหยิบจับวัตถุดิบอาหารเหล่านี้เองที่อาจจะนำมาซึ่งอันตรายต่อสมาชิกในบ้าน 

          ทั้งนี้เนื่องจากบนผิวหนังของเราทุกคนนี้เองมีเชื้อโรคเกาะติดอยู่ตลอดเวลา โดยที่เชื้อโรคนี้มักจะพบแฝงตัวอยู่มากตามซอกหลืบเร้นลับต่าง ๆ ของร่างกายที่อาจจะไม่ได้รับการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอหรือเพียงพอ หากขาดความระมัดระวังในเรื่องความสะอาด ก็มีโอกาสมากทีเดียวที่ระหว่างการเตรียมอาหาร มือที่ไม่ได้ล้างสะอาดเพียงพอ หรือบังเอิญล้วงแคะแกะเกา ก็ไปประกอบอาหารให้สมาชิกในบ้านเท่ากับเป็นความหวังดีแต่ประสงค์ร้าย ไปแปะเชื้อโรคไว้ที่แซนวิช

 จานด่วน กินไม่ด่วน ชวนเชื้อโรค

          หากว่าแซนวิชที่ตระเตรียมเสร็จแล้วถูกสมาชิกในบ้านเปิบภายในเวลาไม่นานนัก ก็มักจะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น แต่หากบังเอิญว่าแซนวิชที่เตรียมไว้ข้ามคืนโดยทิ้งไว้นอกตู้เย็น หรือทิ้งไว้จนกระทั่งบ่ายหรือเย็นก่อนที่จะถูกทานเข้าไป ปัญหาก็จะเกิดขึ้น เนื่องจากเชื้อโรคจะมีเวลาในการเพิ่มจำนวนและสร้างสารพิษสะสมไว้ในแซนวิชเพียงพอที่จะทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ โดยอาการหลัก ๆ ของสารพิษ คือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หนาวสั่น ความรุนแรงก็ขึ้นอยู่กับปริมาณสารพิษที่ได้รับเข้าไป
 
แซนวิช

เปิบปลอดภัย...สไตล์หมอซุป

           ล้างมือให้สะอาด (โดยอย่าลืมร้องเพลง ช้าง ให้จบก่อนด้วยครับ)

           ทุกครั้งก่อนการหยิบจับวัตถุดิบอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีแผลที่มือหรือนิ้ว หรือเลวร้ายขนาดฝีหนองด้วย ซึ่งเชื้อที่ทำให้เกิดการอักเสบที่ผิวหนังก็ให้บังเอิญเป็นเชื้อโรคในกลุ่มเดียวกับเชื้อโรคอาหารเป็นพิษนี้เองด้วย จึงควรหลีกเลี่ยงการตระเตรีมอาหารเป็นอย่างยิ่ง

           แต่หากเลี่ยงไม่ได้ควรสวมถุงมือเพื่อไม่ให้เชื้อโรคปนเปื้อนลงไปในอาหาร ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนที่มีแผลที่มือหรือนิ้วเท่านั้นที่จะสวมถุงมือได้นะครับ แต่ยังคงต้องใช้ความระมัดระวังเช่นเดิม คือ พยายามไม่ให้ถุงมือไปสัมผัสกับผิวหนังนั่นเอง

           หลังจากเตรียมแซนวิชแล้ว ควรจะเก็บแซนวิชในตู้เย็นหรือเก็บในที่เย็นตลอดเวลาก่อนถึงเวลาทานจริง เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่อาจจะบังเอิญปนเปื้อนไม่ให้เพิ่มจำนวนและสร้างสารพิษออกมา
 

ภัยร้ายความเค็มสะสมจากพริกน้ำปลา



น้ำปลาพริก

ภัยร้ายความเค็มสะสมจากพริกน้ำปลา (Woman's Story)

          ทราบหรือไม่ว่าพริกน้ำปลา นอกจากไม่ได้จัดให้อยู่ในชุดอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุโดยไม่รู้ตัว เพื่อไม่เสียเวลา เราไปติดตามข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวกันเลยค่ะ...

          องค์การอนามัยโลกให้รับประทานอาหารที่มีโซเดียมได้ไม่เกินวัน 1,400 มิลลิกรัม ซึ่งอาหารไทยส่วนมากจะมีรสจัดโซเดียมเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดมาก และโซเดียมที่ใกล้ตัวมากที่สุดและคนมักมองข้ามคือพริกน้ำปลา ที่แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของคนไทยไปแล้ว เพราะจะเห็นว่าคนที่จะรับประทานอาหารมักจะคลุกเคล้าข้าวกับพริกน้ำปลา และเติมพริกน้ำปลาในอาหาร นอกจากนี้แล้วก่อนที่จะกินก๋วยเตี๋ยวก็มักจะเติมน้ำปลา น้ำตาล น้ำส้มสายชูลงไปด้วย

          อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารรสเค็มมาก ๆ และบ่อย ๆ จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองแตก โรคหัวใจ และไตวาย รวมทั้งโรคกระดูกพรุน ซึ่งผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวอยู่แล้วจะต้องระมัดระวังอาหารที่มีโซเดียมสูง เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในโรคที่เป็นอยู่ เนื่องจากโรคดังกล่าวนี้เหมือนกับภัยเงียบที่ไม่บ่งบอกอาหารให้ผู้ป่วยได้รู้ 

          คนที่เป็นก็จะไม่รู้สึกว่าเป็นอะไร แต่เมื่อเป็นความดันสูงอยู่เรื่อย ๆ เมื่ออายุมากขึ้น ความยืดหยุ่นเส้นเลือดน้อยลง เส้นเลือดแข็งก็จะเปราะบาง เมื่อมีความดันสูงเรื่อย ๆ ไม่สามารถคุมได้แล้วเกิดเส้นเลือดแตกตามจุดสำคัญต่าง ๆ ก็จะทำให้เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ กลายเป็นคนพิการ และที่ร้ายแรงที่สุดคือเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้



          ฉะนั้นแล้ว คนวัยหนุ่มสาวที่ยังแข็งแรง ก็ต้องระมัดระวังและควบคุมการรับประทานอาหารรสเค็ม เพื่อเป็นการป้องกันและไม่ให้เกิดการสะสมโซเดียมไว้ในร่างกายมากเกินไป อีกทั้งควรเลือกใช้เกลือหรือน้ำปลาโลว์โซเดียมที่มีจำหน่ายตามร้านค้าต่าง ๆ มาปรุงรสเค็มให้อาหารแทนน้ำปลาทั่ว ๆ ไป ซึ่งน้ำปลาโลว์โซเดียมนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ